head ads

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มรสุมซัดอุตฯเซรามิก4เด้ง!

ที่มา มรสุมซัดอุตฯเซรามิก4เด้ง!
อุตฯเซรามิก เจอ 4 เด้ง ซัดภาคการผลิตเซ โดยทั้งค่าบาทแข็ง ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา ค่าจ้าง 300 บาท แถมสินค้าจากต่างประเทศได้อานิสงส์ค่าเงินบาทนำเข้าขายราคาถูกทะลักมากขึ้น กระทบกลุ่มเอสเอ็มอีที่ผลิตตามบ้านเรือนปิดกิจการแล้ว 40-50 ราย ยันอยากเห็นค่าเงินที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงพยุงภาวะขาดทุน จากสต๊อกที่ค้างอยู่ส่งออกไม่ได้

     นายอำนาจ ยะโสธร เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าใน 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ที่มีมูลค่าการส่งออกปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.346 พันล้านบาท กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์  4.309 พันล้านบาท กระเบื้องปูพื้นและปูผนัง  3.685 พันล้านบาท ที่ส่วนใหญ่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังจะประสบปัญหากับภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และอาจทำให้ยอดการส่งออกลดลง ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกปีนี้ลดลงด้วย

     "นอกจาก ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากสินค้าเซรามิที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากปกติที่นำเข้ามาขายในราคาที่ต่ำอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก ยิ่งทำให้สินค้าเซรามิกทะลักเข้ามามากขึ้นกว่าเดิมทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าในราคาต่ำได้"

    ขณะเดียวกันยังจะประสบปัญหาต้นทุนพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น จากกรณีที่กระทรวงพลังงานจะปรับราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ อีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม  จากเดิมราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จะส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกขนาดเล็กจริงๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม โดยยังไม่รวมต้นทุนที่เกิดจากการปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ถือว่าโหดร้ายอย่างมาก

    นายอำนาจ กล่าวอีกว่า จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปิดกิจการไปแล้วประมาณ 40-50 ราย ที่ส่วนใหญ่มีสายการผลิตอยู่ในบ้าน มีพนักงานระหว่าง 40-50 คน โดยกลุ่มนี้ที่ปิดกิจการลงจะเป็นเรื่องของการแบกภาระต้นทุนและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว ส่วนผู้ผลิตขนาดกลางและรายใหญ่ จะกระทบในเรื่องของค่าเงินบาทและการปรับขึ้นของต้นทุนพลังงาน เป็นต้น

    ทั้งนี้ มองว่า ค่าเงินบาทในประเทศไทยสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกควรอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเหมาะสมมากที่สุด เพราะปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ยังมีสินค้าค้างสต๊อกอยู่จำนวนมากและไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากส่งออกไปก็จะประสบภาวะขาดทุน จึงได้ชะลอการส่งออก เพื่อรอให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากกว่านี้

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการพยายามดิ้นรนอยู่ขณะนี้คือจะทำอย่างไร ให้สามารถลดต้นทุนการผลิตให้ได้ต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลดค่าใช้จ่าย การหาตลาดใหม่ การเพิ่มมูลค่าของสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเน้นคุณภาพในตราสินค้าที่ปัจจุบันเป็นจุดเด่นที่คู่แข่งขันไม่สามารถสู้ได้
    นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอี ควรจับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกัน ในเรื่องของการใช้เตาเผาร่วมกัน โดยใช้เตาเผาที่ประหยัดพลังงานใช้งานได้ 24 ชั่วโมง เพราะเตาเผารุ่นเก่าช่วงเปิดและปิดจะทำให้มีการใช้พลังงานที่สูง

    ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์หรือทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้มากขึ้น ในเรื่องของคุณภาพสินค้า เพื่อสกัดการไหลเข้าของสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เพราะเมื่อลูกค้าซื้อสินค้านำเข้ามาใช้ เช่น กระเบื้อง เมื่อปูลงพื้นไปแล้วจะพบว่าเกิดการหลุดลอกของกระเบื้องที่ไม่ได้มาตรฐาน และลูกค้าต้องเสียเงินซื้อสินค้าใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคควรคำนึงคือ เลือกสินค้าที่มีคุณภาพที่ผลิตโดยคนไทย ถึงแม้ว่าจะราคาแพงกว่าก็ตาม แต่ถือว่าคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการต้องเปลี่ยนสินค้าบ่อยๆ

    "สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ ในเรื่องของการสนับสนุนเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนในเรื่องของปรัดลดราคาเครื่องจักรหรือลดภาษีในเรื่องต่างๆ ให้เอสเอ็มอี  ถึงแม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานนำเสนอข่าวสารและศึกษาแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็อยากให้มีความชัดเจนรวดเร็ว และลงลึกมากกว่านี้"

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,841 วันที่  5-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556